แนะนำมหาวิทยาลัยฯ

หาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาเซี่ยงไฮ้ เป็นมหาวิทยาลัยสำคัญระดับชาติ ซึ่งสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการของจีนโดยตรง  มหาวิทยาลัยฯ มีคำขวัญว่า  "เชิดชูคุณธรรมและมีวิสัยทัศน์ อุดมความรู้ ก้าวไกลสู่สากล" ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้วยสรรพวิทยาการหลากหลาย   มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากรด้านภาษาต่างประทศมืออาชีพระดับสากล เพื่อรับรองอนาคตที่มีความท้าทายยิ่ง

ประวัติของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาเซี่ยงไฮ้สถาปนาขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒  เป็นสถาบันขั้นอุดมศึกษาด้านภาษาต่างประเทศแห่งหนึ่งในยุคแรกของประเทศจีนใหม่ แต่เดิมเป็นโรงเรียนภาษารัสเซียเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสังกัดในมหาวิทยาลัยการปฏิวัติประชาชนแห่งจีนภาคตะวันออก  อธิการบดีคนแรกคือ นายเจียง ชูน ฟัง นักแปลภาษารัสเซียที่มีชื่อเสียง  และผู้ริเริ่มตีพิมพ์สารานุกรมของจีน  ใน ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการหลายท่านที่มีความสามารถสูงและอุทิศตนเพื่อการสอนและพัฒนาวิชาการ อาทิ  ศ.ฟัง โจ้ง ศ. ลู่ เป่ยเซียน และ ศ. ซู ฉงเหนียน  ทุกท่านมีส่วนเพิ่มพูนองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ความอยู่ระดับแนวหน้าทางวิชาการ

มหาวิทยาลัยฯ พยายามรักษาคุณภาพการเรียนการสอนให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก และพัฒนาการผสานความรู้ทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีถึงขั้นสุดยอด จนมีสถานภาพทางวิชาการสูงกว่าบรรดามหาวิทยาลัยประเภทเดียวกันในจีน

มหาวิทยาลัยฯ มีสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษระดับชาติ ๑๐ สาขาวิชา โดยเพิ่มขึ้นจากสาขาวิชาที่สำคัญระดับชาติ สาขาวิชาในทีแรก รวมทั้งสาขาวิชาในระดับปริญญาตรีด้านภาษาต่างประเทศที่เปิดสอนอย่างไม่ทั่วไป

ในสองสามปีมานี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้ขยายโครงการที่ให้ปริญญาทางภาษาถึง ๒๕ โครงการ  ครอบคลุมภาษาต่างประเทศ ๒๑ ภาษา และเพิ่มโครงการระดับปริญญาโทกับปริญญาเอกขึ้นอีก เพื่อให้โครงสร้างการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ สมดุลยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สถาบันบัณฑิตศึกษาทางการเเปลและล่าม ( Graduate Institute of Interpretation and Translation -GIIT) ของมหาวิทยาลัยยังได้รับรางวัลสูงสุดจากสมาคมล่ามการประชุมนานาชาติ (International Association of Conference Interpreters)     ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ในบรรดาสถาบันที่เปิดสอนการทำล่ามในการประชุมนานาชาติ ๑๕ สถาบันทั่วโลก ที่ได้รับรางวัลนี้

ความเป็นเลิศทางการวิจัย

มหาวิทยาลัยฯ อาศัยศักยภาพทางภาษาที่หลากหลาย ดำนินภารกิจ ”แนะนำโลกแก่จีน” และ ”แนะนำจีนแก่โลก” จึงมีชื่อเสียงสูงสุดในวงการภาษาศาสตร์และรัฐศาสตร์  การที่มีความเข้มแข็งทางการสอนภาษาต่าง ๆ และมีทรัพยากรความรู้หลายด้าน   มหาวิทยาลัยจึงได้สนองนโยบายแห่งชาติและภูมิภาค โดยบริหารจัดการสถาบันและศูนย์วิจัยกว่า ๕๐ แห่ง เพื่อเป็นคลังความรู้สำหรับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายทางภาษา ยุทธศาสตร์ทางการเมือง และทัศนะของชาวโลกต่อจีน เอกลักษณ์ทางวิชาการเหล่านี้ ได้สร้างผลงานวิจัยที่โดดเด่น และนำผลไปใช้สนับสนุนการพัฒนาทางสังคมศาสตร์แก่ประเทศจีน

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯได้เรียบเรียงและเผยแพร่ วารสาร ๑๑ ฉบับ  ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างมากในวงวิชาการ อาทิ วารสารว่าด้วยภาษาต่างประเทศ (Journal of Foreign Languages ) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน  เป็นวารสารทางภาษาศาสตร์ฉบับเดียวในบรรดาวารสารด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ๓๐ แห่ง

การนำเสนอในระดับโลก

มหาวิทยาลัย ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาให้มุ่งเน้นการก้าวไกลไปสู่โลก และขยายขอบเขตแห่งความรู้นานาชาติของนักศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมพหุวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน 

 มหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก  ๒๗๘ แห่ง ใน ๕๔ ประเทศ/เขต ทั้งยังรักษาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป ( European Union) เป็นต้น

มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการรวบรวมและจัดพิมพ์ชุดตำราการสอนภาษาจีนกลาง สำหรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อเป็นสื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับนานาชาติ   ใน ๕ ปีที่ผ่านมา แต่ละปีมีนักศึกษาต่างชาติประมาณ ๔ พันคน มาเรียนภาษาจีนและวิชาอื่น ๆ ในหลักสูตรปริญญา  มหาวิทยาลัยยังได้สถาปนาสถาบันขงจื๊อทั้งหมด ๖ แห่ง  ทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาใต้

วิทยาเขต                     

มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตสองแห่ง คือวิทยาเขตหงโข่ กับ วิทยาเขตซงเจียง รวมพื้นที่ ๗๔.๗ เฮกตาร์  ทั้งสองวิทยาเขตประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทว่า แต่ละแห่งก็มีลักษณะพิเศษของตนเอง ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย มีหนังสือรวมทั้งหมดประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ เล่ม   (เกินครึ่งเป็นหนังสือภาษาต่างประเทศ)  และมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  มากกว่า ๑,๑๐๐,๐๐๐ เล่ม   มีการจัดทำแหล่งข้อมูลสื่อโสตทัศน์ในระบบดิจิตอล สำหรับการเรียนการสอนเกี่ยวกับต่างประเทศเพื่อสนองความต้องการด้านการสอนและการวิจัย มหาวิทยาลัยฯ ยังเป็นแหล่งอำนวยความสะดวกนานัปการแก่การเรียนการสอน รวมทั้งระบบการล่ามแบบทันใจ  ระบบการรับสัญญาณดาวเทียม และห้องปฏิบัติการทางภาษา  

การรับใช้สังคม                    

การที่มหาวิทยาลัยฯ มีผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้เกี่ยวกับนานาชาติอยู่อย่างมากมาย ทำให้คณาจารย์และนักศึกษากระตือรือร้นที่จะอาสาสมัครช่วยงานด้านการประชุมนานาชาติ การกีฬาและการแข่งขันต่าง ๆ ที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศหลาย ๆ ภาษา   นอกจากนั้นเรายังมีพันธกิจการพัฒนาการศึกษาภาษาต่างประเทศของจีนด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ สำนักพิมพ์การศึกษาภาษาต่างประเทศเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ได้ตีพิมพ์และจำหน่ายหนังสือและตำราประเภทต่าง ๆ ทั้งหมด ๑๑๗๔ ชื่อเรื่อง ในจำนวนนี้  ๗๘๐ ชื่อเรื่อง(ร้อยละ ๖๖.๔๔) ได้พิมพ์ซ้ำหลายครั้ง      หนังสือ การวิเคราะห์ดัชนีการอ้างอิง  พ.ศ. ๒๕๕๓ ระบุว่า ในบรรดาหนังสือที่มีการอ้างอิงบ่อยที่สุด ๑๐ เล่มนั้น มีหนังสือ ๕ เล่มมาจากสำนักพิมพ์การศึกษาภาษาต่างประเทศเซี่ยงไฮ้ แสดงว่าหนังสือของมหาวิทยาลัยมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงวิชาการของประเทศจีน

มหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาเซี่ยงไฮ้ ได้มุ่งมั่นจัดการอบรมนักศึกษาให้มีการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเป็นสากล มีความคิดที่กว้างไกล คิดในมิตินวัตกรรม ใช้ทั้งความรู้และทักษะวิชาชีพเพื่อการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสมและราบรื่น  ใน ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีน  รวมทั้งสร้างมิตรภาพกับประชาชนทั่วโลกอย่างมีคุณประโยชน์มาก

 

แบ่งปันข้อความ: